top of page
NO GIFT POLICY 2023-02.jpg
นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Policy)
บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)

 

    บริษัทมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม รับผิดชอบและระมัดระวังภายใต้กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน จึงเห็นสมควรให้กำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Policy) เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ป้องกัน และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์ให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกคน บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจควบคุม ตัวแทนทางธุรกิจ และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท ได้รับทราบ เข้าใจ และยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติงาน ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ทุกคนตระหนักถึงพิษภัยของการทุจริตคอร์รัปชัน สร้างค่านิยมที่ถูกต้อง และเพิ่มความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อให้การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

คำนิยามตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

  1. การทุจริต หมายถึง การใช้ตำแหน่ง หน้าที่ อำนาจ หรือทรัพย์สินที่มีอยู่ในทางมิชอบ เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น การเบียดบัง ยักยอก ฉ้อโกง รวมทั้งกระทำอื่นใดในลักษณะที่มีการขัดกันของผลประโยชน์

  2. คอร์รัปชัน หมายถึง การกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควร มิชอบ เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ อาทิ การให้/รับ สินบนและสิ่งจูงใจ ของขวัญ การบริจาค การให้เงินสนับสนุน การมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมือง และ/หรือการให้/รับผลประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่ชอบธรรม เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้

  3. การให้สิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด หมายถึง การให้สิทธิพิเศษในรูปของเงิน ทรัพย์สิน สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นสินน้ำใจ เป็นรางวัล หรือเพื่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดี

  4. การให้สินบน หมายถึง การเสนอให้หรือรับสิ่งของ ของขวัญ รางวัล หรือผลประโยชน์อื่นใดให้แก่ตนเอง หรือจากบุคคลซึ่งต้องการ โน้มน้าวให้กระทำการบางอย่างที่ไม่สุจริต ผิดกฎหมาย หรือผิดจรรยาบรรณของบริษัท

  5. การให้หรือรับของขวัญ หมายถึง การให้หรือรับเงิน สิ่งของ ค่าตอบแทน บริการ หรือผลประโยชน์ใดๆ

  6. การเลี้ยงรับรอง และการบริการต้อนรับ หมายถึง การใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงรับรองทางธุรกิจ อาทิ การเลี้ยงรับรองเป็นอาหารและเครื่องดื่ม การเลี้ยงรับรองในรูปแบบการกีฬา และการใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติทางธุรกิจ หรือเป็นจารีตทางการค้า รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจทางธุรกิจ

  7. การบริจาคและการสนับสนุน หมายถึง การให้หรือรับการสนับสนุนทางการเงิน ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ แก่ผู้ขอรับการบริจาคหรือสนับสนุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสาธารณประโยชน์แก่สังคม การกุศล หรือเพื่อส่งเสริมธุรกิจและภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัท

  8. การช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การให้ทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิหรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด แก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ตลอดจนกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

  9. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หมายถึง การกระทำใดๆ ที่จะทำให้ตนมีส่วนได้เสียหรือขัดแย้งทางผลประโยชน์ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมกับบริษัท ไม่ว่าจะเกิดจากการติดต่อกับผู้ที่เกี่ยวข้องทางการค้ากับบริษัท หรือจากการใช้โอกาสหรือข้อมูลที่ได้รับรู้จากการเป็นพนักงานในการหาผลประโยชน์ส่วนตนและการทำธุรกิจที่แข่งขันกับบริษัท หรือการทำงานอื่นนอกเหนือจากงานของบริษัท ซึ่งส่งผลกระทบต่องานในหน้าที่

  10. ค่าอำนวยความสะดวก หมายถึง ค่าใช้จ่ายจำนวนเล็กน้อยที่จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นการให้เพียงเพื่อให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการตามกระบวนการ หรือเป็นการกระตุ้นให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้น โดยกระบวนการนั้นไม่ต้องอาศัยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น รวมทั้งเป็นสิทธิที่นิติบุคคลพึงจะได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การขอใบอนุญาต การขอหนังสือรับรอง และการได้รับการบริการสาธารณะ เป็นต้น

  11. เจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐ หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องถิ่นและให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ

  12. บริษัท หมายถึง บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)

  13. บริษัทคู่ค้า หมายถึง นิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา ที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจกับ บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)

  14. บริษัทย่อย หมายถึง นิติบุคคลที่บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นเกินกว่า 50 % ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

  15. บริษัทร่วม หมายถึง นิติบุคคลที่บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทย่อย ถือหุ้นรวมกันตั้งแต่ 20% แต่ไม่เกิน 50 % ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

  16. บริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจควบคุม หมายถึง นิติบุคคลที่บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทย่อย มีสิทธิออกเสียงไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่า 25% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท

  17. ตัวแทนทางธุรกิจ หมายถึง นิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา ที่ไม่ใช่พนักงานของบริษัท ซึ่งบริษัทได้ว่าจ้าง หรือตกลงให้ทำธุรกรรมหรือติดต่อกับบุคคลภายนอกในนามบริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)

  18. คณะกรรมการ หมายถึง คณะกรรมการของบริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) 

  19. คณะกรรมการตรวจสอบ หมายถึง คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) 

  20. กรรมการ หมายถึง กรรมการของบริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) 

  21. ผู้บริหาร หมายถึง ผู้บริหารตามโครงสร้างของบริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) 

  22. พนักงาน หมายถึง พนักงานในทุกระดับตามโครงสร้างของบริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) 

 

หน้าที่และความรับผิดชอบ

  1. คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทในภาพรวม ตลอดจนกำหนดและพิจารณาอนุมัตินโยบายรวมถึงแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งให้ความสำคัญและสนับสนุนให้มีระบบการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายจัดการตระหนักถึงความสำคัญและปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร

  2. คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลระบบควบคุมภายใน ระบบบัญชีและรายงานทางการเงิน รวมถึงกระบวนการอื่นใดที่เกี่ยวข้องตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน หลักเกณฑ์ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้มีหน้าที่จัดทำรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการรับทราบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการต่างๆ มีระบบควบคุมภายในที่เพียงพอ เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันความเสี่ยงในการเกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้

  3. สำนักตรวจสอบภายในมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานระบบควบคุมภายในของบริษัทให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน หลักเกณฑ์ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนตรวจสอบการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีระบบควบคุมภายในที่เพียงพอ เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันความเสี่ยงในการเกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ รวมถึงรายงานผลการตรวจสอบต่อผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการตรวจสอบ

  4. ผู้บริหารมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการนำนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันไปปฏิบัติ รวมถึงจัดให้มีระบบควบคุมภายในที่เพียงพอในแต่ละกระบวนการทำงานของบริษัท เพื่อป้องกันความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชัน จัดให้มีการสื่อสารและฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันแก่บุคลากรของบริษัทในทุกระดับ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถนำนโยบายและแนวปฏิบัติไปดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงทบทวนนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ หลักเกณฑ์ และข้อกฎหมาย

  5. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

 

นโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน

     ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการให้/รับ  เงิน สิ่งของ ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง เงินเรี่ยไร การบริจาคและการให้ความสนับสนุน การช่วยเหลือทางการเมือง ค่าอำนวยความสะดวก และผลประโยชน์อื่นใด เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์จากบุคคลที่ทำธุรกิจกับบริษัท โดยให้ครอบคลุมถึงครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก คู่ค้า ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนจัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นประจำ และจัดให้มีการทบทวนนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

หลักปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน

  1. กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกคน รวมถึงบริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจในการควบคุม คู่ค้า ตัวแทนทางธุรกิจ ต้องปฏิบัติตามนโยบายโดยไม่มีข้อยกเว้น และห้ามกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกคน ไม่ให้เรียกร้องดำเนินการหรือยอมรับการคอร์รัปชันเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อน และคนรู้จัก

  2. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีหน้าที่ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการต่อต้านการให้/รับ สินบนและสิ่งจูงใจ การให้หรือรับของขวัญ การเลี้ยงรับรองและการบริการต้อนรับ การบริจาคและการให้ความสนับสนุน การช่วยเหลือทางการเมือง ค่าอำนวยความสะดวก หรือการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมือง และ/หรือการให้/รับผลประโยชน์อื่นใด ซึ่งไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่ชอบธรรม เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้

  3. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องไม่ใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่ที่ได้รับเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก และ/หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกระทำการใดอันก่อให้เกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ต่อบริษัท โดยจะต้องเห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ของตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัท และป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

  4. บริษัทกำหนดให้ทุกฝ่ายงาน มีมาตรการในการป้องกัน และต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน แนวปฏิบัติ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนต้องมีการปรับปรุง ทบทวน และแก้ไขระบบและมาตรการต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมทั้งมีการจัดการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันเป็นระยะ เพื่อหาวิธีการป้องกันและแก้ไขอย่างเหมาะสม

  5. พนักงานและผู้บริหารของบริษัท ต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม ให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณบริษัท หรือแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางในการแจ้งข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสของบริษัท

  6. เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีในการดำเนินธุรกิจ บริษัทได้กำหนดนโยบายงดรับของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ และโอกาสอื่นใด ให้แก่ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท รวมถึงไม่มีนโยบายจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกในรูปแบบใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

  7. บริษัทมีนโยบายบริหารบุคลากร ซึ่งรวมถึงการคัดเลือก การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน ตลอดจนการเลื่อนตำแหน่งของพนักงานที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทต่อมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน และมีนโยบายที่จะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงมีการสื่อสารให้พนักงานรับทราบนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันอย่างทั่วถึง

  8. บริษัทกำหนดให้มีการสื่อสารนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัทอย่างต่อเนื่อง อาทิ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์บริษัท และรายงานประจำปี เป็นต้น รวมถึงจัดให้มีหลักสูตรการฝึกอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน

  9. บริษัทกำหนดให้มีช่องทางในการแจ้งข้อมูลหรือแจ้งเบาะแส ทั้งจากพนักงานและบุคคลภายนอก โดยบริษัทจะให้ความเป็นธรรม และคุ้มครองสิทธิของผู้ให้ข้อมูล และ/หรือพนักงานที่ปฏิเสธ และ/หรือแจ้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทั้งด้านหน้าที่การงาน การลงโทษ หรือการดำเนินการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดผลร้ายต่อพนักงานดังกล่าว

 

    ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงานตามนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน และป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกระดับต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ในเรื่องดังต่อไปนี้

  1. การรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และการบริการต้อนรับ หรือรับประโยชน์อื่นใด

​​1.1 ห้ามรับ ขอรับ เรี่ยไร ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง รับการให้บริการ การสนับสนุนทางการเงิน เงินรางวัลใดๆ จากคู่ค้า พันธมิตร เจ้าหนี้ หรือผู้มีส่วนได้เสียที่ทำธุรกิจกับบริษัท ที่อาจทำให้เกิดอิทธิพลในการตัดสินใจหรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หากจำเป็นต้องรับ ของขวัญ ของกำนัล และ/หรือเลี้ยงรับรอง ให้รายงานแก่ผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น

1.2 การขอสนับสนุนในรูปแบบเงินหรือสิ่งของ สามารถกระทำได้ในลักษณะองค์กรกับองค์กร โดยต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องตามข้อบังคับ กฏ ระเบียบของบริษัท และจะต้องได้รับการลงนามอนุมัติจากผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติเท่านั้น

1.3 กรณีได้รับของขวัญ ของกำนัล เนื่องในโอกาสหรือเทศกาลอันเป็นประเพณีนิยมที่พึงปฏิบัติต่อกัน เพื่อรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างบุคคลหรือระหว่างองค์กร โดยสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดนั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทเท่านั้น เป็นผู้แทนบริษัทในการรับสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.3.1 ให้บันทึกรายการของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับทุกรายการ ตามแบบฟอร์ม “รายงานการรับของขวัญ ของกำนัล” และนำส่งรายงานดังกล่าวให้กับฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อขึ้นทะเบียนของขวัญบริษัท

1.3.2 ของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับ ให้ดำเนินการ ดังนี้

  • กรณีเป็นของขวัญหรือของกำนัลที่มีโลโก้ของบริษัทคู่ค้า พันธมิตร เจ้าหนี้ หรือผู้มีส่วนได้เสียที่ทำธุรกิจกับบริษัท อาทิ สมุด ปากกา ไดอารี่ ปฏิทิน ไม่ต้องส่งให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ให้แจกจ่ายภายในหน่วยงาน

  • กรณีเป็นของเน่าเสียได้ง่าย เช่น อาหาร ขนม ของสด ให้นำส่งฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพื่อจัดสรรตามความเหมาะสม

  • กรณีเป็นของที่ไม่เน่าเสีย ให้นำส่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อนำไปทำประโยชน์ อาทิเช่น บริจาคให้องค์กรต่างๆ หรือนำไปจัดกิจกรรมของบริษัท เป็นต้น

1.4  เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ บริษัทไม่อนุญาตให้พนักงานหรือบุคคลที่บริษัทมิได้มอบหมาย ให้เป็นผู้แทนในการรับสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดโดยเด็ดขาด กรณีที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และมีความจำเป็นต้องรับไว้ ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นเพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม

1.5 กรณีได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของบริษัทในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ สามารถรับของขวัญ ของรางวัล หรือของจับฉลากได้ตามหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานภายนอกที่มีการใช้เป็นการทั่วไป

  2. การให้ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และการบริการต้อนรับ หรือให้ประโยชน์อื่นใด

2.1 การให้ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และการบริการต้อนรับ หรือให้ประโยชน์อื่นใด สามารถให้ได้ในโอกาสเทศกาลอันเป็นประเพณีนิยมที่คนทั่วไปพึงปฏิบัติต่อกันหรือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมที่ไม่สร้างความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือประเพณีที่ไม่มีข้อขัดแย้งต่อกฎหมาย โดยให้ขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาก่อนดำเนินการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยอำนาจการอนุมัติและอำนาจการสั่งจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารของบริษัท

2.2 เพื่อหลีกเลี่ยงการนำไปสู่การให้สินบน บริษัทกำหนดให้มีการพิจารณาและตรวจสอบความเหมาะสมของการให้ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และการบริการต้อนรับ หรือให้ประโยชน์อื่นใด รวมทั้งบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาสิ่งของตามความเหมาะสม และเป็นไปตามนโยบายและกรอบอำนาจอนุมัติที่บริษัทกำหนด เพื่อป้องกันการนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน และกำหนดให้ผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้แทนองค์กรในการให้ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และการบริการต้อนรับหรือให้ประโยชน์อื่นใด

2.3 การให้ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และการบริการต้อนรับ หรือให้ประโยชน์อื่นใด สามารถกระทำได้ในลักษณะองค์กรกับองค์กร โดยการให้ต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย ไม่มีเจตนาจูงใจ ชักนำ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจ

  3.  การให้/รับ เงินบริจาค การสนับสนุน การให้/รับเงินบริจาค การสนับสนุน เงินเรี่ยไร ผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อการกุศลหรือกิจกรรมอื่นใดนั้น ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง และต้องมั่นใจว่าการบริจาคหรือการสนับสนุนนั้น ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน ดังนั้นจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ และมาตรการในการควบคุมของการให้/รับเงินบริจาคและการสนับสนุน ไว้ ดังนี้

3.1 การให้/รับเงินบริจาคและการสนับสนุน ต้องเป็นไปเพื่อกิจกรรมตามโครงการเพื่อการกุศลจริง หรือเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติทางธุรกิจทั่วไป มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง

3.2 การให้/รับเงินบริจาคและการสนับสนุน ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้จัดทำบันทึกภายในขออนุมัติตามลำดับชั้น และเสนอต่อกรรมการผู้จัดการเป็นผู้อนุมัติหลักการ และงบประมาณ โดยมีเอกสารสำหรับการอนุมัติ ได้แก่

  • บันทึกรายละเอียดการให้/รับเงินบริจาคและการสนับสนุน

  • รายละเอียดของผู้ให้เงินบริจาค และการสนับสนุน

  • ลักษณะโครงการ/วัตถุประสงค์/เหตุผล

  • หนังสือขอรับบริจาค และ/หรือหนังสือขอเงิน สนับสนุน

  • งบประมาณ/จำนวนเงินของโครงการ

3.3 หน่วยงานที่ขออนุมัติ ต้องจัดทำรายงานสรุปการให้/รับเงินบริจาค และการสนับสนุน ส่งให้กับฝ่ายการบัญชีเพื่อบันทึกรายการบัญชี ในกรณีการให้เงินบริจาค และเงินสนับสนุน หน่วยงานที่ขออนุมัติจะต้องติดตามหลักฐานการให้เงินบริจาค และ/หรือเงินสนับสนุน ได้แก่ ใบเสร็จ/ใบกำกับภาษี ใบอนุโมทนาบัตร หรือหนังสือขอบคุณ เป็นต้น เพื่อนำส่งให้กับฝ่ายการเงินตรวจสอบความถูกต้อง และบันทึกรายการบัญชีเพื่อสามารถตรวจสอบได้ต่อไป

 

  4. การช่วยเหลือทางการเมือง บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นกลางทางการเมือง ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมและฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือผู้มีอำนาจทางการเมืองคนหนึ่งคนใด บริษัทจึงไม่มีนโยบายในการช่วยเหลือทางการเมือง ไม่สนับสนุนทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดเพื่อช่วยเหลือทางการเมือง มีแนวปฏิบัติไม่นำเงินทุนหรือทรัพยากรของบริษัทไปใช้สนับสนุน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แก่พรรคการเมือง หรือนักการเมืองใดๆ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดความขัดแย้งภายในบริษัท ก่อให้เกิดความเสียหาย และเสื่อมเสียชื่อเสียง

  5. ค่าอำนวยความสะดวก บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรม มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้บริษัทจึงไม่มีนโยบายในการจ่ายค่าอำนวยความสะดวก ไม่ว่ารูปแบบใดๆ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน จึงกำหนดแนวปฏิบัติในเรื่องค่าอำนวยความสะดวก ไว้ดังนี้

5.1 กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกคน รวมถึงบริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทอื่นที่บริษัทมีอำนาจในการควบคุม คู่ค้า ตัวแทนทางธุรกิจ ห้ามให้หรือสัญญาว่าจะให้สินบน ทรัพย์สิน ค่าอำนวยความสะดวก หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่รัฐ

5.2 การติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐ ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้

5.3 หากกรณีพนักงานได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่รัฐให้จ่ายสินบน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ให้พนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ปฏิเสธการจ่าย และรายงานเรื่องดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และช่องทางในการแจ้งข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสของบริษัทโดยทันที

 

  6. ความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท จะต้องเป็นไปตามขั้นตอน วิธีการปฏิบัติงาน และกระบวนการอนุมัติที่กำหนดไว้ มีการเปรียบเทียบราคา โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ห้ามให้สินบนหรือรับสินบนในการดำเนินธุรกิจ หรือการจัดซื้อจัดจ้างทุกชนิดกับคู่ค้า คู่สัญญา หน่วยงานรัฐ/พนักงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัท โดยจะต้องดำเนินการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง และเป็นไปตามจรรยาบรรณของคู่ค้า (Supplier Code of Conduct)

 

  7. การจ้างเจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐ* ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะเป็นผู้จัดทำรายงานขออนุมัติการจ้างเจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐ ต่อกรรมการผู้จัดการ โดยกำหนดระยะเวลาเว้นวรรค (cooling-off period) เป็นเวลา 2 ปี สำหรับการแต่งตั้งอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกจากตำแหน่ง หรือบุคคลที่เคยทำงานให้กับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยตรง ตลอดจนมีการตรวจสอบประวัติ (Due Diligence) ของบุคคลที่บริษัทจะสรรหาแต่งตั้ง เพื่อตรวจสอบสิ่งที่อาจเป็นประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และเพื่อป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบก่อนการแต่งตั้ง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความโปร่งใสในการแต่งตั้ง บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลรายนามและประวัติของบุคคลที่เคยเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งมาเป็นที่ปรึกษา/กรรมการ/ผู้บริหารของบริษัท พร้อมระบุเหตุผลการแต่งตั้งบุคคลเหล่านั้นโดยการเปิดเผยข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์และรายงานประจำปีของบริษัท เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์

* ปัจจุบันบริษัทไม่มีการจ้างเจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐ

 

  8. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์

    คณะกรรมการบริษัทได้มุ่งเน้นให้บริษัทดำเนินงานภายใต้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอดจนคอยกำกับดูแลการดำเนินงานของฝ่ายจัดการให้เป็นไปตามนโยบายและทิศทางในการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว รวมถึงกำหนดกระบวนการตรวจสอบ และการกำกับดูแลให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปอย่างโปร่งใส ยั่งยืน รวมถึงมีการจัดทำการรายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์เป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กรสู่ความยั่งยืน

     คณะกรรมการบริษัทได้แบ่งแยกอำนาจ และกำหนดบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ โดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบแยกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้คนใดคนหนึ่งมีอำนาจโดยไม่จำกัด ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบาย เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ กฎหมาย รวมถึงระเบียบ ข้อบังคับที่ได้รับมอบหมายตามที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด

  ทั้งนี้ บริษัทมีมาตรการในการดูแลเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และกำหนดแนวปฏิบัติในเรื่องการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ไว้ดังนี้

       การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์  คณะกรรมการบริษัทมีความระมัดระวังกับรายการที่เกี่ยวโยงกันและรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยบริษัทมีการกำหนดขั้นตอนพิจารณาไว้อย่างรอบคอบตามนโยบายการเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกันและรายการระหว่างกัน มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างมีเหตุมีผลและเป็นอิสระภายในกรอบจริยธรรมอันดี เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์คณะกรรมการตรวจสอบจะเป็นผู้พิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และบริษัทจะเปิดเผยรายการดังกล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน และรายงานประจำปีของบริษัท

​       ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวปฏิบัติในเรื่องการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ไว้ดังนี้

  1. บริษัทได้กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องไม่กระทําการใด ๆ อันเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท หรือจากการใช้โอกาสหรือข้อมูลที่ได้จากการเป็นพนักงาน หาประโยชน์ส่วนตน หรือทำธุรกิจที่แข่งขันกับบริษัท

  2. บริษัทได้กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีหน้าที่จะต้องรักษาข้อมูลภายในของบริษัทที่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน อาทิ ข้อมูลจากงบการเงินที่ยังไม่ได้นำส่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลประกอบการของบริษัท การเพิ่มทุน การลดทุน การร่วมลงทุน การจ่ายเงินปันผล การควบรวมกิจการ และการจะได้มาซึ่งสัญญาทางการค้าที่สำคัญ เป็นต้น

  3. กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และบุคคลที่ได้ล่วงรู้ข้อมูลภายในที่สำคัญก่อนที่จะเผยแพร่ต่อผู้ลงทุน (Insider) จะต้องปฏิบัติตามแนวทางสำหรับการดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน และการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท ตลอดจนห้ามซื้อ ขาย โอน และรับโอนหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทก่อนข้อมูลดังกล่าวจะเปิดเผยต่อสาธารณชน

  4. กำหนดให้กรรมการ และผู้บริหารระดับสูง มีหน้าที่รายงานส่วนได้เสียตามแบบแจ้งข้อมูลประวัติ และข้อมูลการมีส่วนได้เสียของตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องครั้งแรกต่อเลขานุการบริษัท และรายงานทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง

 

     ทั้งนี้ บริษัทได้มีการจัดทำจรรยาบรรณพนักงานเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้พนักงานทุกระดับรับทราบและยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับพนักงานในการประพฤติตนอย่างมีจรรยาบรรณ และเป็นการแสดงให้เห็นว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับของบริษัท ทั้งนี้ ยังเป็นเครื่องเตือนให้พนักงาน มีความระมัดระวัง และป้องกันไม่ให้พนักงานกระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์

 

การรับเรื่องร้องเรียน และการแจ้งเบาะแส

     บริษัทมีนโยบายในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงได้กำหนดนโยบายการรับเรื่องร้องเรียน และการแจ้งเบาะแส เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในกรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม มีข้อสงสัย หรือพบการกระทำที่สงสัยว่าฝ่าฝืนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Policy) กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน หรือเบาะแส พร้อมส่งหลักฐาน พร้อมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องได้ตามช่องทางในการแจ้งข้อมูล หรือแจ้งเบาะแสของบริษัท

     ทั้งนี้ สำหรับพนักงาน ที่ต้องการสอบถาม ขอคำปรึกษา คำแนะนำในการปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักตรวจสอบภายใน หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัท

 

ช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน และการแจ้งเบาะแส

     บริษัทเปิดโอกาสให้พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม มีการแสดงความเห็น และแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎหมาย เพื่อนำไปสู่

(1) ตรวจสอบข้อเท็จจริง (2) แก้ไข/ปรับปรุงด้านบริหารจัดการ และ (3) การพัฒนา/ฝึกอบรม โดยบริษัทได้กำหนดช่องทางในการรับแจ้งข้อมูล ข้อร้องเรียน หรือเบาะแส ดังนี้

  1. จดหมายส่งทางไปรษณีย์

ติดต่อ    : คณะกรรมการตรวจสอบ / สำนักตรวจสอบภายใน / เลขานุการบริษัท

ที่อยู่      : บริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) เลขที่ 252/6 อาคารเมืองไทยภัทรคอมเพล็กซ์ 1 ชั้น 29

    ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10320

2. จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail)

Email   : internalaudit@pl.co.th

   company_secretary@pl.co.th

กระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน และการแจ้งเบาะแส

     บริษัทกำหนดให้มีกลไกการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสที่ร่วมสอดส่องดูแลผลประโยชน์บริษัท ในกรณีเป็นพนักงานของบริษัท บริษัทจะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่แจ้งเบาะแส และ/หรือพนักงานที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงมีกระบวนการพิจารณาการร้องเรียนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. เมื่อมีการร้องเรียนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันตามช่องทางที่กำหนด สำนักตรวจสอบภายในจะตรวจสอบข้อร้องเรียนโดยพิจารณาความชัดแจ้งเพียงพอของพยานหลักฐานในเบื้องต้น

  2. กรณีมีมูลความจริงจะดำเนินการตรวจสอบเพื่อรวบรวมหลักฐาน และพยาน และจัดส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียน (ประกอบด้วย สำนักตรวจสอบภายใน ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และ/หรือบุคคลอื่นใดที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบ (ถ้ามี)) ภายในระยะเวลา 15 วันทำการ นับแต่ได้รับเรื่องร้องเรียน หรือข้อมูลเบาะแส

  3. คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจะพิจารณาข้อเท็จจริง หลักฐาน และจัดทำรายงาน และความเห็นภายในระยะเวลา 30 วันทำการเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาต่อไป และรายงานให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบ

  4. สำนักตรวจสอบภายในเป็นผู้จัดทำรายงานสรุปข้อมูลสถิติการร้องเรียน และเบาะแสที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน และเก็บรักษารายงานดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี

การพิจารณาโทษ

      นโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีของมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของวินัยในการปฏิบัติงานของกรรมการ ผู้บริหาร และ พนักงานทุกคน หากผู้ใดละเลย ละเว้น และเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติของบริษัท บริษัทถือว่าผิดวินัยอย่างร้ายแรง และจะได้รับโทษตามข้อบังคับหรือระเบียบของบริษัทที่ได้กำหนดไว้ และ/หรือจะมีประกาศต่อไปในภายหน้า และหากความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บริษัทจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

คู่ค้า ตัวแทนทางธุรกิจ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Policy) โดยไม่มีข้อยกเว้น หากไม่ปฏิบัติตามนโยบายอาจถูกบริษัทบอกเลิกสัญญาได้

 

    นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันฉบับนี้ คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาและอนุมัติในการประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 7/2566 ประชุมเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566

 

     ทั้งนี้ ให้พนักงานทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันฉบับนี้อย่างเคร่งครัด

Call Center
0-2290-7575

Phatra Leasing Public Company Limited

252/6 29TH Floor,Muang Thai Phatra Complex 1 

Rachadaphisek Rd.,Huaykwang,

Bangkok 10320 Thailand

Copyright © 2016 Phatra Leasing Public Company Limited

bottom of page